วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การจัดการเรียนรู้แบบนิรนัย (Deductive  Method)


ความหมาย               การจัดการเรียนรู้แบบนิรนัย คือ  กระบวนการที่ผู้สอนจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนมีความรู้เข้าใจเกี่ยวกับกฎ  ทฤษฎี  หลักเกณฑ์  ข้อเท็จจริงหรือข้อสรุปตามวัตถุประสงค์ในบทเรียนจากนั้นจึงให้ตัวอย่างหลายๆตัวอย่าง  หรืออาจให้ผู้เรียนฝึกการนำทฤษฎี  หลักการ  หลักเกณฑ์  กฎหรือข้อสรุปไปใช้ในสถานการณ์ที่หลากหลาย   หรืออาจเป็นลักษณะให้ผู้เรียนหาหลักฐานเหตุผลมาพิสูจน์ยืนยันทฤษฎี  กฎหรือข้อสรุปเหล่านั้น  การจัดการเรียนรู้แบบนี้จะช่วยให้ผู้เรียนเป็นคนมีเหตุผล  ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ  และมีความเข้าใจในกฎเกณฑ์  ทฤษฎี  ข้อสรุปเหล่านั้นอย่างลึกซึ้ง การสอนแบบนี้อาจกล่าวได้ว่า  เป็นการสอนจากทฤษฎีหรือกฎไปสูตัวอย่างที่เป็นรายละเอียด
วัตถุประสงค์
เพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ทฤษฎีหลักการหรือกฎเกณฑ์ต่างๆและสามารถนำไปใช้ในการแก้ปัญหาในสถานการณ์ที่หลากหลายได้
องค์ประกอบสำคัญ
  องค์ประกอบสำคัญของการสอนแบบนิรนัยมีดังนี้ คือ
1           ทฤษฎี หลักการ กฎ หรือข้อสรุปในเนื้อหาที่ต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้
2            ตัวอย่างสถานการณ์ที่หลากหลาย ที่สามารถนำทฤษฎี กลักการ กฎ หรือข้อสรุป เนื้อหาที่ต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้นั้นไปใช้ได้
3           การฝึกนำทฤษฎี หลักการ กฎ หรือข้อสรุป ในเนื้อหาที่ต้องการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ไปใช้ในสถานการณ์ที่หลากหลาย
4           ผลการเรียนรู้ของผู้เรียนที่เกิดขึ้นจากการนำหลักการไปใช้
ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้
การสอนแบบนิรนัยมีขั้นตอนสำคัญดังต่อไปนี้
1.            ขั้นกำหนดขอบเขตของปัญหา  เป็นการนำเข้าสูบทเรียนโดยการเสนอปัญหาหรือระบุสิ่งที่จะสอนในแง่ของปัญหา  เพื่อยั่วยุให้ผู้เรียนเกิดความสนใจที่จะหาคำตอบ  ปัญหาที่จะนำเสนอควรจะเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ของชีวิตและเหมาะสมกับวุฒิ ภาวะของผู้เรียน
2.             ขั้นแสดงและอธิบายทฤษฎี  หลักการ  เป็นการนำเอาทฤษฎี  หลักการ  กฎ  ข้อสรุปที่ต้องการสอนมาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ทฤษฎี  หลักการนั้น
3.             ขั้นใช้ทฤษฎี  หลักการ  เป็นขั้นที่ผู้เรียนจะเลือกทฤษฎี  หลักการ  กฎ  ข้อสรุป  ที่ได้จากการเรียนรู้มาใช้ในการแก้ปัญหาที่กำหนดไว้ได้
4.             ขั้นตรวจสอบและสรุป  เป็นขั้นที่ผู้เรียนจะตรวจสอบและสรุปทฤษฎี  หลักการ  กฎ  ข้อสรุปหรือนิยามที่ใช้ว่าถูกต้อง  สมเหตุสมผลหรือไม่  โดยอาจปรึกษาผู้สอน  หรือค้นคว้าจากตำราต่างๆ  หรือจากการทดลอง  ข้อสรุปที่ได้พิสูจน์หรือตรวจสอบว่าเป็นจริง  จึงจะเป็นความรู้ที่ถูกต้อง
5.             ขั้นฝึกปฏิบัติ  เมื่อผู้เรียนเกิดความเข้าใจในทฤษฎี  หลักการ  กฎ  ข้อสรุป  พอสมควรแล้ว  ผู้สอนเสนอสถานการณ์ใหม่ให้ผู้เรียนฝึกนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ ใหม่ๆที่หลากหลาย
ข้อดีและข้อจำกัด
ข้อดีและข้อจำกัดของการจัดการเรียนรู้แบบนิรนัย มีดังนี้
ข้อดี
1          เป็นวิธีการที่ช่วยในการถ่ายทอดเนื้อหาสาระได้ง่าย รวดเร็วและไม่ยุ่งยาก
2          ใช้เวลาในการจัดการเรียนรู้ไม่มากนัก
3          ฝึกให้ผู้เรียนได้นำเอาทฤษฎี หลักการ  กฎ  ข้อสรุปหรือนิยามไปใช้ในสถานการณ์ใหม่ๆ
4          ใช้ได้ผลดีในการจัดการเรียนรู้วิชาศิลปศึกษา และคณิตศาสตร์
5          ฝึกให้ผู้เรียนมีเหตุผลไม่เชื่ออะไรง่ายๆโดยไม่มีการพิสูจน์ให้เห็นจริง
ข้อจำกัด
1          เป็นวิธีการที่ใช้ได้เฉพาะบางเนื้อหาส่งเสริมคุณค่าในการแสวงหาและคุณค่าทางอารมณ์ค่อนข้างน้อย
2          เป็นวิธีการที่ผู้สอนต้อเตรียมตัวอย่างสถานการณ์ปัญหาที่ดีมีความชัดเจนและหลากหลายให้ผู้เรียนฝึกทำ
3          ผู้เรียนบางส่วนอาจใช้วิธีการท่องจำมากกว่าการทำความเข้าใจอย่างแท้จริง ความจำจึงกลายเป็นเรื่องจำเป็นและเป็นสิ่งสำคัญถ้าผู้เรียนลืมทฤษฎี กฎ สูตร ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้

  อ้างอิง      จากหนังสือ21วิธีจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิด  พิมพ์ครั้งที่ 2                                                   โดย ดร.สุวิทย์ มูลคำ  และ ดร. อรทัย  มูลคำ